วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

หมวดที่ 3 บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย

หมวดที่ 3 บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
         ธนาคารให้ความสำคัญและเคารพต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเท่าเทียมกัน โดยได้กำหนดปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของธนาคารและบทบาทของธนาคารต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ อาทิ ผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า รวมถึงบทบาทของคณะกรรมการและผู้บริหารของธนาคาร ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไว้ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธนาคาร ดังนี้

- ผู้ลงทุน ธนาคารให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลของธนาคารที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส สม่ำเสมอ และทันเวลา โดยจัดให้มีการเผยแพร่ข่าวสารผ่านช่องทางและสื่อต่าง ๆ และมีการจัดตั้งฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์เพื่อทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานการให้ข้อมูลธนาคาร ตอบข้อซักถาม และนำเสนอผลประกอบการที่สำคัญของธนาคาร รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักลงทุนและผู้ที่มีส่วนได้เสีย
- ผู้ถือหุ้น ธนาคารให้ความสำคัญและเคารพต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเสมอภาคในการตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการดำเนินงานของธนาคาร มีการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้กิจการของธนาคารมีความเจริญเติบโต และมีผลประกอบการที่ดี ก่อให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญให้กับผู้ถือหุ้นอย่างครบถ้วน ถูกต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้
- คณะกรรมการธนาคาร ธนาคารเปิดโอกาสให้คณะกรรมการธนาคารทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานให้แก่ฝ่ายจัดการ ธนาคารได้จัดทำคู่มือสำหรับกรรมการธนาคารและการเสนอหลักสูตรการอบรมที่เหมาะสมแก่กรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาจัดสรรเวลาเข้าอบรมอย่างสม่ำเสมอ โดยมีฝ่ายเลขานุการธนาคารเป็นหน่วยงานที่คอยดูแลและสนับสนุนให้การปฏิบัติหน้าที่และกิจกรรมของคณะกรรมการธนาคารเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และตามที่กฎหมายกำหนด
- ผู้บริหาร ธนาคารเปิดโอกาสให้ผู้บริหารของธนาคารสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ โดยปราศจากการแทรกแซง ภายใต้บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่คณะกรรมการธนาคารมอบหมาย
- พนักงาน ธนาคารให้ความสำคัญกับพนักงานทุกระดับของธนาคาร โดยจัดให้มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีความเจริญก้าวหน้า และพัฒนาความรู้ความสามารถ โดยมีการเปิดเผยรายละเอียดไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ในหัวข้อ “การพัฒนาบุคลากร”
นอกจากนี้ ธนาคารได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และความปลอดภัย ใน “ปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน” และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไว้โดยเฉพาะ เพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยของพนักงาน
- ลูกค้า ธนาคารดำเนินธุรกิจโดยตั้งมั่นอยู่บนความซื่อสัตย์ สุจริต และเป็นธรรม เพื่อรักษาผลประโยชน์และความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและบริการที่เป็นเลิศ สะดวก รวดเร็ว และทำให้ชีวิตง่ายขึ้น (Krungsri Simple) ให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนถูกต้อง รักษาข้อมูลของลูกค้าและไม่นำไปแสวงหาประโยชน์ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้แสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาการบริการให้ดียิ่งขึ้น โดยกำหนดช่องทางให้ลูกค้าสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือข้อแนะนำมายังธนาคารได้หลายช่องทาง
- คู่ค้าและเจ้าหนี้ ธนาคารปฏิบัติต่อคู่ค้าและเจ้าหนี้ด้วยความซื่อตรง สุจริต และเป็นธรรม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ค้าและเจ้าหนี้ ไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของคู่ค้าและเจ้าหนี้ ให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนถูกต้อง ส่งเสริมกิจกรรมที่นำมาซึ่งความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
นอกจากนี้ ธนาคารได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติงานในการจัดซื้อจัดจ้าง และนโยบายการให้หรือรับของขวัญและการเลี้ยงรับรองที่ชัดเจน เพื่อให้พนักงานถือปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
- ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ธนาคารให้ความร่วมมือกับกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจโดยรวม เพื่อป้องกันผลกระทบอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบธนาคารพาณิชย์ ส่งเสริมกิจกรรมที่นำมาซึ่งความเข้าใจอันดี แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อื่นภายใต้กฎระเบียบและข้อบังคับที่กำหนดไว้ เช่น ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม ไม่กล่าวหาหรือให้ร้าย นอกจากนี้ ธนาคารได้ให้ความร่วมมือในการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของระบบธนาคารพาณิชย์และระบบเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย
- ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ธนาคารตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการธนาคารได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และความปลอดภัยไว้ใน “ปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน” และธนาคารได้กำหนดหลักสูตรการอบรมเพื่อให้พนักงานได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบ E-Learning

ธนาคารได้ดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นโครงการที่ธนาคารริเริ่มขึ้น และสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรสาธารณกุศล หน่วยงานภาครัฐและเอกชน การบริจาคเพื่อการกุศล โดยมุ่งเน้นให้มีโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการขจัดความยากจน ด้านการพัฒนาเยาวชนและการศึกษา ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข และการสร้างเสริมสุขภาพ และด้านการฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งรายละเอียดได้เปิดเผยไว้ในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หัวข้อ “ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
 ธนาคารได้กำหนดแนวทางปฏิบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและความเป็นส่วนตัว
ธนาคารกำหนดเป็นนโยบายเกี่ยวกับการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและนโยบายความเป็นส่วนตัว โดยกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน มีหน้าที่เคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนเรื่องต่าง ๆ อาทิ การปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนด้วยความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรี การไม่ละเมิดหรือคุกคามทั้งทางวาจาหรือการกระทำต่อผู้อื่น การไม่ใช้แรงงานเด็ก การไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ เพศ ศาสนา การไม่เหยียดในความพิการทางร่างกายของผู้อื่น การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน
- การไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์
ธนาคารกำหนดเป็นหลักการไว้ใน “ปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน” โดยพนักงานมีหน้าที่ต้องปกป้องสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ ความลับทางการค้า และข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
- การต่อต้านการทุจริตและห้ามจ่ายสินบนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
ธนาคารกำหนดเป็นหลักการไว้ใน “ปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน” โดยห้ามมิให้มีการจ่ายเงินที่ไม่เหมาะสมในการตกลงธุรกิจใด ๆ ทั้งกับภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้มาหรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งความได้เปรียบอย่างไม่เหมาะสม ทั้งยังกำหนดเป็นนโยบายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายด้วย

ช่องทางการติดต่อกับธนาคาร คณะกรรมการธนาคารได้จัดให้มีช่องทางการติดต่อกับธนาคารเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ สามารถติดต่อสอบถาม ร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วดังนี้

- แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายหรือจรรยาบรรณ ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลการเงิน ระบบการควบคุมภายใน และอื่น ๆ โดยผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ ผ่านช่องทาง
• จดหมายไปรษณีย์ โดยจ่าหน้าซองถึง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ (นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช) หรือ กรรมการตรวจสอบ (นายวิรัช ไพรัชพิบูลย์) หรือ กรรมการตรวจสอบ (นายพงศ์อดุล กฤษณะราช) หรือ เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ (นางสาวพรรณทิพา หาญนรเศรษฐ์) และส่งมาที่
บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่
เลขที่ 1222 ถนนพระรามที่ 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
• จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) : audit.committee@krungsri.com
• เว็บไซต์ของธนาคาร ในหมวด “เกี่ยวกับเรา” หัวข้อ “การรับเรื่องร้องเรียน”


- แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือติดต่อสอบถามในเรื่องอื่น ๆ ผ่านช่องทาง
• Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1572
• จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) : irgroup@krungsri.com
• เว็บไซต์ของธนาคาร ในหมวด “นักลงทุนสัมพันธ์” หัวข้อ “ติดต่อนักลงทุนสัมพันธ์”
- สำหรับพนักงานธนาคาร นอกจากการร้องเรียนผ่านช่องทางข้างต้นแล้ว สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดหรือการละเมิดนโยบาย ข้อบังคับ และระเบียบของธนาคาร โดยแจ้งผ่านผู้รับเรื่องร้องเรียน (Ombudspersons) ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารที่ได้รับการยอมรับจากพนักงานและผู้บริหารในความซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรมและมีความเป็นกลาง ได้แก่ นางสาวลดาวัลย์ คงเครือพันธุ์ และนางธิดารัตน์ เศรษฐวรวิจิตร โดยผู้ร้องเรียนสามารถเลือกที่จะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยชื่อก็ได้
- ในกรณีที่เป็นเรื่องร้องเรียน ธนาคารจะเก็บชื่อและข้อมูลของผู้ร้องเรียนไว้เป็นความลับ และจะเปิดเผยเฉพาะกรณีที่จำเป็นแก่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น โดยเรื่องที่ได้รับแจ้งจะมีกระบวนการแจ้งต่อไปยังผู้บริหารในสายงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการโดยเร็ว และจะรายงานผลการดำเนินการให้กับผู้บริหารหรือคณะกรรมการธนาคารทราบแล้วแต่กรณีด้วย โดยธนาคารห้ามมิให้มีการตอบโต้ต่อผู้ร้องเรียนหรือช่วยเหลือในการจัดการปัญหาโดยเด็ดขาด การตอบโต้จะเป็นเหตุให้มีการลงโทษทางวินัยสูงสุด ซึ่งอาจรวมถึงการเลิกจ้างด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น